งานการมีส่วนร่วมของประชาชน

       วัตถุประสงค์ของการมีส่วนร่วมของประชาชน

        1) เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบ และเกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง ตลอดระยะเวลาการศึกษาเป็นระยะ ๆ และต่อเนื่อง

        2) เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากกลุ่มเป้าหมายสำหรับใช้ประกอบการพิจารณาศึกษาออกแบบโครงการให้มีความเหมาะสม โดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดและตอบสนองต่อการใช้งานของประชาชนได้อย่างสูงสุด

 

       พื้นที่ดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน

        ในเบื้องต้นการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงกำหนดพื้นที่ดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของ 3 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลนาซ่าว ตำบลเชียงคาน และตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ในจังหวัดเลย ดัง ตารางที่ 1

 

ตารางที่ 1 พื้นที่ดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน

จังหวัด

อำเภอ

ตำบล

การปกครองส่วนท้องถิ่น

เลย

เชียงคาน

นาซ่าว

องค์การบริหารส่วนตำบลนาซ่าว

เชียงคาน

เทศบาลตำบลเชียงคาน

องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงคาน

บุฮม

องค์การบริหารส่วนตำบลบุฮม

1 จังหวัด

1 อำเภอ

3 ตำบล

4 การปกครองส่วนท้องถิ่น

 

       กลุ่มเป้าหมาย

        การดำเนินงานการมีส่วนร่วมของประชาชนของโครงการเน้นให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน หน่วยงานปกครอง กลุ่มองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจในโครงการ ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในการดำเนินงาน 7 กลุ่ม โดยจำแนกกลุ่มเป้าหมายตามแนวทางการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ดังนี้

        1)    ผู้ได้รับผลกระทบ: แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้เสียผลประโยชน์ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโครงการในด้านลบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น กลุ่มผู้นำชุมชน และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ศึกษาของโครงการ และกลุ่มผู้ได้ผลรับประโยชน์ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโครงการในด้านบวก ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจการค้า และบริการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของโครงการ รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวเนื่องจากการพัฒนาโครงการ เป็นต้น

        2)    ผู้ที่รับผิดชอบจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม: ได้แก่

  • เจ้าของโครงการ ในที่นี้หมายถึง กรมทางหลวง
  • นิติบุคคลผู้มีสิทธิทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือที่ปรึกษา ในที่นี้หมายถึงกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

        3)    ผู้ที่ทำหน้าที่พิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม: ได้แก่

  • สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) หรือหน่วยงานของรัฐตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) มอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่แทน
  • คชก. และ/หรือ กก.วล.
  • ผู้ที่มีหน้าที่ตัดสินใจอนุมัติอนุญาตโครงการ เช่น คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจอนุญาตตามกฎหมาย

        4)    หน่วยงานราชการในระดับต่าง ๆ: ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นต้น

        5)    องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และนักวิชาการอิสระ: เช่น กลุ่มองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นองค์กรที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ในที่นี้หมายถึง กลุ่มหรือองค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือเข้าไปใช้ประโยชน์พื้นที่ สถาบันการศึกษาภายในพื้นที่โครงการหรือสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และนักวิชาการอิสระ ในที่นี้หมายความรวมทั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และนักวิชาการจากภายนอก

        6)    สื่อมวลชน: สื่อมวลชนระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง ซึ่งมีบทบาทในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ ผลกระทบของโครงการและความก้าวหน้าในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

        7)    ประชาชนทั่วไป: สาธารณชนที่มีความสนใจโครงการ จะมีบทบาทในฐานะผู้สังเกตการณ์ การดำเนินกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชนของโครงการ ได้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการ โดยปราศจากการปิดกั้นการให้ข้อมูลข่าวสารและเข้าร่วมประชุม ทั้งนี้โครงการจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม ดังนั้นที่ปรึกษาจึงได้แบ่งกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียตามบทบาทและความสำคัญที่มีต่อโครงการ

 

       แผนการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน

        แผนการมีส่วนร่วมของประชาชนจะดำเนินการร่วมกับการประชาสัมพันธ์โครงการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนสิ้นสุดการศึกษาโครงการ โดยมุ่งเน้นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารแก่กลุ่มเป้าหมายอย่างชัดเจนและมีความโปร่งใส เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายมีโอกาสรับทราบข้อมูลความคืบหน้าของโครงการ และเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นให้ข้อเสนอแนะได้ในทุกขั้นตอนการศึกษาโครงการ

        ที่ปรึกษาได้จัดทำแผนการมีส่วนร่วมของประชาชน จำนวน 8 แผน (ดังรูปที่ 1) เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร รวมถึงมีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นหรือความกังวลใจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการได้ทุกระยะ โดยจะนำข้อคิดเห็น ประเด็น และข้อเสนอแนะที่ได้รับไปใช้พิจารณาปรับปรุงแนวทางการทำงานในขั้นต่อไป สำหรับแผนงานการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้ง 8 แผน ประกอบด้วย

        1)   แผนการเตรียมความพร้อมก่อนการรับฟังความคิดเห็น

        2)   แผนการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 1)

        3)   แผนการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อแนวเส้นทางและรูปแบบทางเลือกของโครงการ (การประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1)

        4)    แผนการสัมภาษณ์เชิงลึก ครั้งที่ 1 (ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดนโยบายการพัฒนาเมือง)

        5)   แผนการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อแนวเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมของโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2)

        6)   แผนการสัมภาษณ์เชิงลึก ครั้งที่ 2 (ผู้มีบทบาทสำคัญต่อพื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม)

        7)   แผนการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (การประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2)

        8)   แผนการประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3)

 

       แผนการประชาสัมพันธ์โครงการ

        การประชาสัมพันธ์โครงการ โดยการนำเสนอเนื้อหาขอบเขตงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ประกอบด้วย

        1) การประชุมเตรียมความพร้อมก่อนการรับฟังความคิดเห็น

        2) การประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 1)

        3) การประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อแนวเส้นทางและรูปแบบทางเลือกของโครงการ (การประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1)

        4) การสัมภาษณ์เชิงลึก ครั้งที่ 1 (ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดนโยบายการพัฒนาเมือง)

        5) การประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อแนวเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมของโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 2)

        6) การสัมภาษณ์เชิงลึก ครั้งที่ 2 (ผู้มีบทบาทสำคัญต่อพื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม)

        7) การประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (การประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 2)

        8) การประชุมสรุปผลการศึกษาโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 3)