งานด้านสิ่งแวดล้อม

วัตถุประสงค์ของการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม

        การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวง 4 ช่องจราจร ทางเลี่ยงเมืองเชียงคาน (ด้านตะวันออก) มีวัตถุประสงค์ดังนี้

  • เพื่อศึกษารายละเอียดของโครงการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการคาดการณ์/ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจขึ้นเกิดจากการพัฒนาโครงการ ตั้งแต่ระยะเตรียมการก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ
  • เพื่อศึกษาสภาพสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ ครอบคลุม 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางด้านชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต ทั้งในระยะเตรียมการก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ ซึ่งในการศึกษาสภาพสิ่งแวดล้อมปัจจุบันจะทำการรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากเอกสารและรายงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทำการสำรวจและเก็บตัวอย่างคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม เช่น การตรวจวัดคุณภาพน้ำผิวดิน การตรวจวัดคุณภาพอากาศ การตรวจวัดระดับเสียง การตรวจวัดการสั่นสะเทือน การสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดิน สำรวจสภาพเศรษฐกิจ-สังคมของตัวแทนกลุ่มเป้าหมาย และการสำรวจด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นต้น
  • เพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของแนวเส้นทางโครงการ โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการทางวิชาการเป็นหลักหรือแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการประเมิน เพื่อให้เกิดความแม่นยำและแน่นอนมากขึ้น โดยทำการประเมินผลกระทบทั้งกรณีที่ไม่มีโครงการและกรณีที่มีโครงการ ครอบคลุมระยะเตรียมการก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ ทั้งผลกระทบด้านบวก และผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ
  • เพื่อกำหนดมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม และแผนจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ทั้งระยะเตรียมการก่อสร้าง ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ
  • เพื่อดำเนินการในกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน และการประชาสัมพันธ์โครงการ ตลอดระยะเวลาการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ โดยข้อคิดเห็นที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็น จะนำมาพิจารณาประกอบการศึกษาไว้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

       

แนวทางการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

        ในกระบวนการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่ถูกต้องที่สุดบนพื้นฐานทางวิชาการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ปรึกษาจะดำเนินการศึกษาตามข้อกำหนดการศึกษา (TOR) ของกรมทางหลวงเป็นอย่างน้อย และจะดำเนินการตามแนวทางและหลักเกณฑ์ในการศึกษาและจัดเตรียมรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนี้

        1) ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562

        2) แนวทางในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการทางหลวง (Guidelines for Preparation of Environmental Impact Statement of a Road Scheme: ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 7 เดือนตุลาคม 2564) จัดทำโดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมทางหลวง

        3) แนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประเภทโครงการด้านคมนาคม ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พ.ศ. 2549

        4) แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พ.ศ. 2562

        5) แนวทางการจัดทำแผนงานการมีส่วนร่วมของประชาชน (Guidelines for Preparation of Public Involvement Plan) ของกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สำนักแผนงาน กรมทางหลวง (ปรับปรุงครั้งที่ 4 เดือนตุลาคม 2563)

 

ขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

        1) การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE)

        เพื่อใช้สรุปประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญของแต่ละทางเลือก/กำหนดเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการนำประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญไปใช้ประกอบในขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกทางเลือกแนวเส้นทางและรูปแบบทางแยกที่มีความเหมาะสมที่สุด

        2) การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (EIA)

        เพื่อนำประเด็นสิ่งแวดล้อมที่มีนัยสำคัญ ที่ได้จากการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของทางเลือกที่ได้รับการคัดเลือกมาทำการศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบเพิ่มเติมอย่างละเอียด

รูปที่ 1 ขั้นตอนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ

รูปที่ 2 การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียด (EIA)

 

สภาพแวดล้อมปัจจุบัน

        การรวบรวมข้อมูลสถานภาพปัจจุบันของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป และคุณค่าต่างๆ ที่มีต่อมนุษย์ พร้อมด้วยแผนที่โครงการ และพื้นที่บริเวณที่อาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากโครงการ สิ่งแวดล้อมของโครงการ โดยกำหนดองค์ประกอบและปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่จะทำการศึกษาตามกรอบของแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการทางหลวง (Guidelines for Preparation of Environmental Impact Statement of A Road Scheme : ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 7 เดือนตุลาคม 2564) ของกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม สำนักงานแผนงาน กรมทางหลวง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการประเภทการคมนาคมทางบก ที่กำหนดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พ.ศ.2549 โดยการศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับ สถานภาพปัจจุบันของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป และคุณค่าต่างๆ ที่มีต่อมนุษย์ พร้อมด้วยแผนที่โครงการ และพื้นที่บริเวณที่อาจได้รับผลกระทบกระเทือนจากโครงการ สิ่งแวดล้อมของโครงการ จะพิจารณาโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ (Natural Environment) และ สิ่งแวดล้อมทางสังคมมนุษย์ (Social Environment) โดยทั้ง 2 กลุ่มจะแบ่งเป็น 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางด้านกายภาพ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมทางด้านชีวภาพ คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และคุณค่าต่อคุณภาพชีวิต โดยภายใต้แต่ละองค์ประกอบจะมีปัจจัยหลักทางด้านสิ่งแวดล้อมอยู่หลายปัจจัย รวม 37 ปัจจัย ดัง ตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ปัจจัยสิ่งแวดล้อมหลักที่ทำการศึกษา

 

ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม
ด้านกายภาพ

(9 ปัจจัย)

ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม
ด้านชีวภาพ

(4 ปัจจัย)

คุณค่าการใช้ประโยชน์
ของมนุษย์

(10 ปัจจัย)

คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต

(14 ปัจจัย)

•   ภูมิสัณฐาน

•   ทรัพยากรดิน

•   ธรณีวิทยา

•   ทรัพยากรแร่ธาตุ

•   น้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน

•   น้ำทะเล

•   อากาศและบรรยากาศ

•   เสียง

•   ความสั่นสะเทือน

•   ระบบนิเวศน์

•   สัตว์ในระบบนิเวศน์

•   พืชในระบบนิเวศน์

•   สิ่งมีชีวิตที่หายาก

 

•   น้ำเพื่อการอุปโภค

และบริโภค

•   การคมนาคม

•   สาธารณูปโภค

•   พลังงาน

•   การควบคุมน้ำท่วม

และการระบาย

•   การเกษตรกรรม

•   การอุตสาหกรรม

•   เหมืองแร่

•   สันทนาการ

•   การใช้ที่ดิน

•   เศรษฐกิจ-สังคม

•   การโยกย้ายและ
การเวนคืน

•   การศึกษา

•   การสาธารณสุข

•   อาชีวอนามัย

•   การแบ่งแยก

•   อุบัติเหตุและความปลอดภัย

•   ความปลอดภัยในสังคม

•   สุขาภิบาล

•   สารอันตราย

•   ความสำคัญเฉพาะชุมชน

•   ผู้ใช้ทาง

•   ประวัติศาสตร์และโบราณคดี

•   สุนทรียภาพ