งานศึกษาคัดเลือกแนวเส้นทางโครงการและรูปแบบการพัฒนา

ขั้นตอนการดำเนินการ

        การศึกษาคัดเลือกแนวเส้นทางโครงการและรูปแบบการพัฒนาของโครงการ มีองค์ประกอบในการศึกษา ได้แก่ การกำหนดจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดโครงการที่เหมาะสม การคัดเลือกแนวเส้นทาง การกำหนดรูปตัดทางที่เหมาะสม และการคัดเลือกรูปแบบทางแยกต่างระดับ ซึ่งในขั้นตอนการศึกษาคัดเลือกแนวเส้นทางโครงการและรูปแบบการพัฒนา จะเริ่มต้นจากการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อใช้ในการศึกษากำหนดรูปแบบทางเลือก ประกอบด้วยแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ/ดาวเทียมครอบคลุมบริเวณพื้นที่โครงการ ข้อมูลโครงข่ายการจราจรขนส่งทั้งในปัจจุบันและแผนงานในอนาคตของหน่วยงานต่าง ๆ บริเวณพื้นที่โครงการ นอกจากนั้น ที่ปรึกษาจะทำการสำรวจภาคสนามในเบื้องต้นเพื่อกำหนดอุปสรรคสิ่งกีดขวางที่เป็นจุดควบคุมต่าง ๆ รวมทั้งพื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ที่ตั้งชุมชน สถานที่ราชการ ศาสนสถาน โรงเรียน แม่น้ำลำคลองและพื้นที่อนุรักษ์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดตำแหน่งลงบนภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งจะนำมาเป็นแผนที่ฐาน (Base Map) หลังจากนั้นกำหนดทางเลือก (Alternative) ที่มีความเป็นไปได้ด้านวิศวกรรม สอดคล้องกับนโยบายของกรมทางหลวง/กระทรวงคมนาคม ค่าก่อสร้างไม่สูงมาก และมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำ จากนั้นเปรียบเทียบทางเลือกโดยเกณฑ์การคัดเลือก ซึ่งประกอบด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านวิศวกรรม/จราจร ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และปัจจัยด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ปัจจัยย่อยมาจากการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE)) โดยในขั้นตอนการศึกษาทางเลือก ที่ปรึกษาจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการดำเนินการมีส่วนร่วมของประชาชน มาใช้ร่วมประกอบการพิจารณากำหนดทางเลือกและเกณฑ์การคัดเลือกด้วย โดยขั้นตอนการศึกษาคัดเลือก แสดงดัง รูปที่ 1

รูปที่ 1 ขั้นตอนการศึกษาคัดเลือกแนวเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาโครงการ

 

การศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

        ดำเนินการรวบรวม ตรวจสอบ ศึกษาทบทวนรายงานการศึกษาและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง หรือในการศึกษาคัดเลือกแนวเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาโครงการที่ผ่านมาในอดีตของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งมติคณะรัฐมนตรี ยุทธศาสตร์และนโยบายระดับชาติต่าง ๆ แผนพัฒนา คำสั่งและกฎระเบียบ แผนงานโครงการของรัฐและจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ตลอดจนโครงข่ายทางหลวงในพื้นที่ที่จะศึกษาและโครงข่ายการคมนาคมของหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทางหลวงชนบท สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นต้น

        นอกจากนั้นจะดำเนินการศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจสังคม ข้อมูลรายละเอียดของโครงข่ายถนนปัจจุบัน อุปสรรค ตลอดจนข้อจำกัดในการพัฒนาแนวเส้นทาง ได้แก่ ทั้งข้อจำกัดทางด้านกายภาพและด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งผลจากการทบทวนการศึกษาและแผนพัฒนา มาใช้ในการพิจารณาประกอบการกำหนดทางเลือก โดยที่ปรึกษาจะจัดทำแผนที่ แสดงข้อจำกัดของพื้นที่และโครงการที่เกี่ยวข้องในปัจจุบันและอนาคตโดยรอบพื้นที่ศึกษาในมาตราส่วนที่เหมาะสมและชัดเจนเพื่อใช้ในการศึกษาคัดเลือกแนวเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาโครงการ

 

หลักเกณฑ์ในการกำหนดทางเลือก

        หลักเกณฑ์ในการกำหนดทางเลือกจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดโครงการ

        หลักเกณฑ์ที่สำคัญในการกำหนดทางเลือกของตำแหน่งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางเลี่ยงเมืองเชียงคาน (ด้านทิศตะวันออก) มีรายละเอียดดังนี้

  • จะต้องสามารถเชื่อมโยงทางเลี่ยงเมืองเชียงคานด้านทิศตะวันตกในอนาคตได้ เพื่อให้เกิดโครงข่ายการเดินทางที่สมบูรณ์
  • ตำแหน่งของจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดโครงการ ควรอยู่ตั้งห่างจากพื้นที่ชุมชน สามารถรองรับการขยายตัวของชุมชนในอนาคตได้
  • การกำหนดจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดจะต้องหลีกเลี่ยงการเกิดผลกระทบต่อพื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ได้แก่ สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานที่ทางราชการ ชุมชน
  • มีผลกระทบด้านการโยกย้าย/เวนคืน ให้น้อยที่สุด

        หลักเกณฑ์การกำหนดแนวเส้นทางเลือก

        หลักเกณฑ์การกำหนดแนวเส้นทางเลือกของทางเลี่ยงเมืองเชียงคาน (ด้านทิศตะวันออก) มีรายละเอียดดังนี้

  • สามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายถนนที่สำคัญที่มีปริมาณการเดินทางสูงในบริเวณพื้นที่ศึกษา
  • รองรับการเดินทางที่ไม่ต้องการผ่านตัวเมืองให้มาใช้เส้นทางโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
  • หลีกเลี่ยงการเกิดผลกระทบต่อพื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม เช่น สถานศึกษา วัด โรงเรียน สถานพยาบาล เป็นต้น
  • เป็นไปตามหลักวิศวกรรม สอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศและรองรับการพัฒนาเมืองในอนาคต

        หลักเกณฑ์การกำหนดรูปตัดทาง

        หลักเกณฑ์ที่สำคัญในการกำหนดรูปตัดทาง (Typical Section) มีรายละเอียดดังนี้

  • รองรับการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • มีความสะดวกและปลอดภัยในการสัญจรและเป็นไปตามมาตรฐานของกรมทางหลวง
  • มีค่าก่อสร้างไม่สูงมาก
  • เป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่/ไม่มีปัญหาในการระบายน้ำ
  • รองรับการพัฒนารูปตัดทางในขั้นสมบูรณ์ (Ultimate Stage)

        หลักเกณฑ์การกำหนดรูปแบบทางเลือกทางแยกต่างระดับ

        หลักเกณฑ์ที่สำคัญในการกำหนดรูปแบบทางเลือกทางแยกต่างระดับ มีรายละเอียดดังนี้

  • รองรับการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการลดจุดขัดแย้งบริเวณทางแยกและลดความสับสนในการเดินทาง
  • จะต้องสามารถเชื่อมโยงทางเลี่ยงเมืองเชียงคานด้านทิศตะวันตกในอนาคตได้ เพื่อให้เกิดโครงข่ายการเดินทางที่สมบูรณ์
  • มีความปลอดภัยในการสัญจรผ่านทางแยก
  • หลีกเลี่ยงการเกิดผลกระทบต่อพื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ได้แก่ สถานศึกษา
  • ศาสนสถาน สถานที่ทางราชการ ชุมชน เป็นต้น
  • มีผลกระทบด้านการโยกย้าย/เวนคืน ให้น้อยที่สุด
  • มีผลกระทบด้านต่อการจราจรระหว่างก่อสร้างน้อยที่สุด
  • ราคาค่าก่อสร้างไม่สูงมาก

        เกณฑ์การคัดเลือกแนวเส้นทางโครงการและรูปแบบการพัฒนา

        การศึกษาคัดเลือกแนวเส้นทางและรูปแบบการพัฒนาโครงการที่เหมาะสมเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากลักษณะของโครงการมีรูปแบบเป็นทางหลวงแนวใหม่ ซึ่งมีผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งมีผลตอบแทนในรูปแบบของการส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของเมืองเชียงคานและจังหวัดเลย ดังนั้น ในการเปรียบเทียบรูปแบบทางเลือก จะต้องพิจารณาความเหมาะสมในปัจจัยหลัก 3 ด้าน คือด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจ-การลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเกณฑ์ในการคัดเลือกรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมเบื้องต้น ดังแสดงในตารางที่ 1

 

ตารางที่ 1 หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกแนวเส้นทางโครงการและรูปแบบการพัฒนาเบื้องต้น

หลักเกณฑ์ในการคัดเลือก

ปัจจัยหลัก

ดัชนี

1)      จุดเริ่มต้น/จุดสิ้นสุด

2)      แนวเส้นทาง

3)      รูปแบบตัดทาง

4)      ทางแยกต่างระดับ

 

ด้านวิศวกรรม

ความยาวของแนวเส้นทาง ลักษณะแนวทางราบ ลักษณะแนวทางดิ่ง ประสิทธิภาพโครงข่ายการจราจร ความยากง่ายในการก่อสร้าง และความเหมาะสมต่อการพัฒนาในอนาคต เป็นต้น

ด้านเศรษฐกิจ-การลงทุน

ค่าก่อสร้าง ค่าบำรุงรักษา ค่าเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และผลประโยชน์ของโครงการ เป็นต้น

ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ประกอบด้วย ผลกระทบต่ออุทกวิทยา คุณภาพน้ำผิวดิน นิเวศวิทยาทางบก ผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ เสียง ความสั่นสะเทือน ปัญหาด้านการชะล้างพังทลายของดิน ผลกระทบต่อการคมนาคม ผลกระทบต่อการโยกย้ายและเวนคืน และคุณค่าทางโบราณสถาน วัฒนธรรมและทัศนียภาพ เป็นต้น

 

             อย่างไรก็ตาม ปัจจัยด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม จะดำเนินการคัดเลือกปัจจัยที่คาดว่าจะมีนัยสำคัญ จากผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกที่เหมาะสมต่อไป